ประเทศไทยกับรถยนต์ไฟฟ้า (EV)

เมื่อเร็วๆ นี้สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดโครงการสัมมนาและนิทรรศการรถยนต์ไฟฟ้า “ประเทศไทยกับรถยนต์ไฟฟ้า (EV)”

M27320705-696x550

โดยมีนักวิชาการ ,ตัวแทนภาครัฐ-รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมนำเสนอความคิดเห็น โดยศาสตราภิชาน พูลพร แสงบางปลา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้ว่าจากนโยบายสนับสนุนรถไฟฟ้าของภาครัฐซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามประชาชนยังไม่รู้จักรถไฟฟ้าและยังมีข้อสงสัยอีกหลายประเด็น ดังนั้นจึงได้จัดโครงการดังกล่าวขึ้นมาเพื่อเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อไป
นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เปิดเผยว่า หน้าที่ของบีโอไอคือการกำหนดเงื่อนไขเพื่อให้เกิดการลงทุนเกี่ยวกับรถไฟฟ้า อย่างไรก็ดีในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ามีปัจจัยเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นการไม่เห็นด้วยจากผู้ผลิตรถยนต์ ประการต่อมาคือกลัวว่ารถอีวีจะเข้ามาทำลายอุตสาหกรรมยานยนต์เดิม ต่อเรื่องนี้เมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้กลับไปทบทวนและศึกษาสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนสำหรับรถไฟฟ้าในประเทศไทยอย่างรอบคอบ โดยคาดว่าจะมีการเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนเข้ามาร่วมพูดคุยกันอีกครั้งหนึ่ง

“จากมติ ครม.ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 ที่ต้องการสนับสนุนรถอีวี ในประเทศไทย ต่อมาในเดือน มิถุนายน มีนโยบายเร่งด่วนให้มีรถโดยสาร-รถสาธารณะอีวีวิ่งในไทย ภายในเดือนพฤศจิกายนซึ่งขสมก.ยังไม่มีความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ คาดว่าโครงการนี้อาจจะล่าช้าออกไปอีก ส่วนรถบัสไฟฟ้าหากจะประกอบสามารถทำได้ทันที แต่รถยนต์นั่งต่างๆต้องดูโครงสร้างพื้นฐานว่ามีความพร้อมหรือไม่ เพราะถ้าหากไม่พร้อมก็คงไม่เกิด”

นางสาวอัจฉรินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวทางการส่งเสริมที่ได้เสนอไป จะแบ่งออกเป็น 3 ระยะได้แก่ ระยะที่ 1 จะให้นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูปเข้ามาโดยทำการยกเว้นภาษีนำเข้าเป็นระยะเวลา 2 ปี ต่อมาในระยะที่ 2 หรือเข้าสู่ปีที่ 3 บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจะต้องมีการผลิตชิ้นส่วนสำคัญ และ ระยะที่ 3 หรือเข้าสู่ปีที่ 4 บริษัทผู้ผลิตจะต้องทำการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย

“โครงการรถไฟฟ้าไม่แห้วแน่นอน เพราะมีหลายคนจ้องที่จะลงทุน แต่ว่าการศึกษาต่างๆต้องทำอย่างละเอียด โดยเรามองว่าคุณค่าหรือหลักของการเกิดรถไฟฟ้าในประเทศไทยคือ ต้องให้เกิดการผลิตชิ้นส่วนสำคัญในประเทศ ดังนั้นเงื่อนไขหลักที่ตั้งไว้สำหรับผู้ที่สนใจจะเข้ามาผลิตรถไฟฟ้าคือการมีชิ้นส่วนหลัก อาทิ แบตเตอรี่ ,มอเตอร์,ระบบปรับอากาศไฟฟ้า,ระบบควบคุม ซึ่งผู้ผลิตรถยนต์จะเลือกชิ้นส่วนไหนก็ได้ ส่วนแนวคิดที่ค่ายรถจะขอรับการส่งเสริมเกี่ยวกับเทคโนโลยีไฮบริดให้เทียบเท่ากับรถไฟฟ้า หรือ รถปลั๊ก-อิน ไฮบริดนั้น ตรงนี้มองว่าเทคโนโลยีดังกล่าวมีอยู่แล้ว และเกิดแล้วในประเทศไทย ดังนั้นเงื่อนไขภาษีต้องต่างกัน ”

นางเพียงใจ แก้วสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า นิสสันมีความพร้อมสำหรับรถไฟฟ้า เนื่องจากมีการผลิตและจำหน่ายเชิงแมสตั้งแต่ปี 2553 ในรุ่น นิสสัน ลีฟ และอีกหนึ่งรุ่นที่เพิ่งเปิดตัวไปคือ NV200 ซึ่งเป็นสเตชันแวกอน โดยนิสสันมียอดขายสะสมของรถไฟฟ้าจนถึงเดือนกรกฎาคม 2559 จำนวน 2.58 แสนคัน และในอนาคตนิสสันเตรียมพัฒนารุ่นใหม่ของลีฟ ให้สามารถวิ่งได้มากกว่าเดิม หรือประมาณ 400 กิโลเมตร ขณะที่แผนงานเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานก็มีการวางไว้ล่วงหน้า เช่นเดียวกับการจัดการกับแบตเตอรี่

อย่างไรก็ตามการจะลงทุนเพื่อผลิตในประเทศไทยนั้น จะต้องดูเงื่อนไขต่างๆเพราะประเมินเบื้องต้นเกี่ยวกับความต้องการของผู้บริโภคนั้นยังน้อย และระยะเวลาที่รัฐวางไว้ 2 ปีเกี่ยวกับการยกเว้นภาษีนำเข้าถือว่าสั้นไป หากสามารถยืดออกไปเป็น 3 ปีน่าจะเหมาะสม

“ความต้องการรถไฟฟ้าไม่น่าจะมาก เพราะทุกวันนี้ผู้บริโภคไม่มีความเชื่อมั่น เนื่องจากยังไม่รู้เลยว่ารถไฟฟ้ามีคุณสมบัติอย่างไร มีความปลอดภัย – อันตรายหรือไม่อย่างไร ส่วนความกังวลใจของผู้ผลิตชิ้นส่วนว่าจะได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟฟ้านั้น ตรงนี้มองว่าจะไม่กระทบรุนแรง เพราะไม่ได้เกิดขึ้นอย่างทันที การที่ภาครัฐสนับสนุนในตอนนี้ถือเป็นการเตรียมการ เพราะในอนาคตรถไฟฟ้าก็เป็นเทรนด์ของโลกที่จะก้าวไป ดังนั้นผู้ผลิตชิ้นส่วนจะต้องมีการปรับตัว ”

ด้านนายธีระ ประสงค์จันทร์ รองผู้อำนวยการฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์และกฎระเบียบราชการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทยฯ กล่าวว่า การที่รถยนต์ไฟฟ้าจะมาถึงไทยหรือไม่นั้น ก็อยู่ที่ว่าไทยมีความพร้อมด้านไหน ยกตัวอย่าง ไทยมีทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้มองว่ามีความเหมาะสมกับ ไบโอดีเซล ,แก๊สโซฮอล์ ส่วนรถยนต์ไฟฟ้า ต้องดูว่าจะไปกระทบกับพลังงานในครัวเรือน ,อุตสาหกรรมหรือไม่ สำหรับโตโยต้ามีความเห็นว่าเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับไทยมากที่สุดคือ ไฮบริด เพราะเป็นเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังลดการใช้พลังงาน

นาย วัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายไฟฟ้า สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญและมีแนวทางสนับสนุนเกี่ยวกับรถไฟฟ้าที่ชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการและผู้ใช้รถไฟฟ้า ดังจะเห็นจากการจับมือกับสถาบันยานยนต์ไฟฟ้าไทยในการสนับสนุนการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้กับหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนจำนวน 100 สถานี

“นโยบายสนับสนุนรถไฟฟ้าจะไม่กระทบกับอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ และช่วยลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าพลังงาน ได้ถึงปีละ 1.7 หมื่นล้านบาท เพราะรถยนต์ไฟฟ้าจะมีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่ถูกกว่าน้ำมันหลายเท่า โดยได้ตั้งเป้าผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าไว้ที่ 1.2 ล้านคัน ภายในปี 2579”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,207 วันที่ 6 – 9 พฤศจิกายน 2559

ความเห็นของคุณ

comments

ใส่ความเห็น