4 ฟันเฟือง ดันรถยนต์ไฟฟ้าแจ้งเกิดใน ASEAN

The Connected Car
The Connected Car

ชั่วโมงนี้คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่ากระแสรถยนต์ไฟฟ้ากำลังเป็นที่จับตามองของสังคม จากการที่ภาครัฐตั้งเป้าสนับสนุนให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ในภูมิภาคอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นการจัดเตรียมนโยบายส่งเสริมการลงทุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน โครงการรถเมล์ไฟฟ้าของขสมก. หรือโครงการทุนสนับสนุนสถานีประจุไฟฟ้า เป็นต้น รวมถึงท่าทีของภาคเอกชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อนโยบายดังกล่าวทั้งในด้านบวกและด้านลบถึงความพร้อมต่อการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในบ้านเรา หากลองมองไปยังเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน นอกจากไทยแล้วก็คงมีเพียงสิงคโปร์ และมาเลเซีย ที่มีการสนับสนุนให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจัง ในขณะที่ผู้ผลิตคู่แข่งรายสำคัญอย่างอินโดนีเซียยังวุ่นอยู่กับการผลิตรถยนต์เครื่องยนต์เชื้อเพลิงน้ำมันเพื่อหวังจะแซงหน้าไทยในอนาคต(?) แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ว่าทั้ง 3 ประเทศหลักจะพยายามผลักดันอย่างไร ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคอาเซียนในอีก 2-3 ปีข้างหน้าที่รวมรถยนต์ hybrid แล้วก็ยังไม่เกิน 20,000 คัน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่า 1% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมดอยู่ดี

1468319401

การที่รถยนต์ไฟฟ้าสามารถแจ้งเกิดได้นั้นยังคงต้องอาศัยฟันเฟืองสำคัญ 4 อย่าง ไม่ว่าจะเป็น 1) การพัฒนาในโครงสร้างพื้นฐาน ที่สามารถเห็นได้ชัดที่สุดคงจะเป็นปริมาณของสถานีประจุไฟฟ้าที่ปัจจุบันทั้ง 3 ประเทศรวมกันยังคงมีเพียง 280 แห่ง จึงไม่ครอบคลุมพื้นที่การใช้งานได้อย่างเพียงพอ ซึ่งยังอยู่ระหว่างการผลักดันให้มีการจัดตั้งเพิ่มขึ้นอีกกว่า 600 แห่ง ในอนาคต 2) ราคาที่เหมาะสม ด้วยราคาต้นทุนของแบตเตอรี่ และภาษีประเภทต่างๆ ทำให้ราคาของรถยนต์ไฟฟ้าสูงกว่ารถยนต์ทั่วไปที่มีสมรรถนะใกล้เคียงกันมากถึง 1.5 เท่า เพื่อให้รถยนต์ไฟฟ้ามีราคาที่สามารถแข่งขันได้ในตลาด รัฐบาลของทั้งสิงคโปร์และมาเลเซียจึงจำเป็นต้องมีการ subsidy หรือให้ทุนสนับสนุนแก่ผู้บริโภค ซึ่งก็เป็นวิธีการในอเมริกาเหนือ ยุโรปและจีน ซึ่งมียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าสูงที่สุดในโลก รวมถึงราคาน้ำมันที่ยังคงเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์ ซึ่ง ณ ราคาน้ำมันในปัจจุบันก็คงมีน้อยคนนักที่อยากเปลี่ยนไปใช้รถยนต์พลังงานประเภทอื่นที่มีราคาสูงกว่า 3) เทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง ที่ยังไม่มีการลงทุนหรือการถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนในภูมิภาค โดยปัจจุบันผู้ผลิตรถยนต์รายสำคัญอย่าง Toyota, Honda และ Nissan ยังมีเพียงการนำเข้าชิ้นส่วนสำคัญอย่างมอเตอร์และแบตเตอรี่เข้ามาเพื่อการประกอบรถยนต์ hybrid เพียงประเภทเดียว ในขณะที่รถยนต์ไฟฟ้าชนิด Plug-in hybrid และชนิดแบตเตอรี่ 100% มีเพียงการนำเข้าทั้งคันในกลุ่มรถยนต์นั่งหรูเท่านั้น ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าฟันเฟืองทั้ง 3 ชิ้นนี้มักได้รับการกล่าวถึงเป็นอันดับแรกๆ

ในขณะที่ฟันเฟืองชิ้นสุดท้ายอย่าง 4) โมเดลธุรกิจเพื่อรองรับ กลับถูกมองข้ามหรือไม่ค่อยได้รับการสนับสนุน ทั้งๆ ที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะหากพิจารณาโดยละเอียดแล้วโมเดลธุรกิจนั้นเป็นตัวชูโรงในการสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ ได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการภาพยนตร์สตรีมมิ่ง เกมส์ออนไลน์บนสมาร์ทโฟน ซึ่งมีส่วนช่วยกระตุ้นยอดขายสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตให้เพิ่มมากขึ้น ด้วยการเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมภายในบ้าน มาอยู่บนจอสมาร์ทโฟน อีกทั้งรายได้จากการให้บริการก็มีมูลค่ามหาศาลจนต้องมีผู้ให้บริการรายใหม่เพิ่มเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งจากตลาดเหล่านี้ ซึ่งหากมีธุรกิจบริการหรือโมเดลธุรกิจสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่เหมาะสม ย่อมช่วยกระตุ้นให้ความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเช่นกัน

โดยในปัจจุบันยังคงมีเพียงสิงคโปร์ที่มีความชัดเจนในการสนับสนุนให้เกิดความหลากหลายของการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งโครงการ Singapore EV car sharing ที่พร้อมให้มีการใช้งานในปีหน้า หรือ การเปิดให้บริการระบบแท็กซี่ไร้คนขับซึ่งเป็นการนำรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้ ในขณะที่มาเลเซียก็มีการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าภายใต้นโยบาย Green tech Malaysia ซึ่งยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนเช่นเดียวกับไทย ดังนั้น การพัฒนาโมเดลธุรกิจสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามโดยเฉพาะในธุรกิจการให้บริการด้านการเดินทางหรือที่เรียกว่า mobility service ทั้งในบริการเช่ารถยนต์แบบ car sharing หรือ ride hailing รวมถึง การให้บริการในโครงสร้างพื้นฐานอย่างการให้บริการกำจัดรีไซเคิลแบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพ หรือการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับระบบ smart grid ภายในอาคารให้กับธุรกิจต่างๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเฉพาะใน สิงคโปร์ มาเลเซีย และ ไทย เพื่อเพิ่มโอกาสของไทยสำหรับการเปิดเกมส์รุกบุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้าอาเซียนในอนาคตอันใกล้

ความเห็นของคุณ

comments

ใส่ความเห็น