รถยนต์ไฟฟ้าเกิดแน่!! ค่ายรถ-ปตท.ผุดสถานีชาร์จ

ปัจจุบันปตท.มีสถานีชาร์จไฟฟ้า 4 แห่ง และมีเป้าหมายจะเพิ่มเป็น 6 แห่งภายในปีนี้ และเพิ่มเป็น 20 แห่งภายในปี 2560

ปตท. ลุยหารือค่ายรถยนต์ทั้งยุโรป ญี่ปุ่น หวังแจ้งเกิดรถยนต์ไฟฟ้า ร่วมทำสถานีชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ตั้งเป้ามี 20 แห่ง ในปี 2560 มีทั้งแบบสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบรวดเร็ว ใช้เวลาชาร์จ 30-40 นาที และการอัดประจุไฟฟ้าแบบธรรมดา ใช้เวลาชาร์จ 8 ชม.

559000008487401

ปัจจุบันทั่วโลกให้ความสนใจการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าในภาคการขนส่งมากขึ้น เนื่องจากเป็นรถยนต์ที่สะอาด ปลอดมลพิษในไอเสียที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงจากเครื่องยนต์สันดาปภายใน และยังเป็นอีกหนึ่งพลังงานทางเลือกที่สามารถรองรับภาวะการขาดแคลนเชื้อเพลิงฟอสซิลในอนาคตได้ด้วย ซึ่งสอดคล้องกับแผนการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 25% ใน 10 ปี หรือ Alternative Energy Development Plan : AEDP 2012-2021 ของกระทรวงพลังงาน
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ไทยมีรถยนต์ไฟฟ้าแค่ 50 คัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถทดลองใช้งาน อีกทั้งไม่มีปั๊มชาร์จไฟฟ้า ส่งผลให้เกิดปัญหาตามมา ปตท.จึงได้หารือกับค่ายรถยนต์ทั้งยุโรปและญี่ปุ่น เพื่อสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต โดยอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจน้ำมัน บมจ.ปตท. (PTT) กล่าวว่า ขณะนี้ปตท.อยู่ระหว่างการเจรจากับค่ายรถยนต์ทั้งจากยุโรปและญี่ปุ่น รวม 3-4 ราย ร่วมทำสถานีชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV Charging Station เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการผลักดันให้เกิดการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ซึ่งรูปแบบการเจรจานั้น ปตท.จะจัดหาพื้นที่สถานีชาร์จไฟที่อยู่ในสถานีบริการน้ำมัน ส่วนค่ายรถยนต์ที่ร่วมมือจะจ่ายค่าเช่าแบบเหมาจ่ายเป็นรายเดือนเพื่อเปิดให้ผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้ากับค่ายรถดังกล่าวมาเติมฟรี
“ขณะนี้มีค่ายรถยนต์ 2 ค่ายตอบตกลงแล้ว คาดว่าจะสรุปได้ 1-2 เดือนนี้ โดยปตท.จะจัดหาที่ตั้งปั๊มชาร์จไฟให้ในปั๊มน้ำมัน รวมถึงค่าไฟที่ต้องรับภาระ ซึ่งค่ายรถจะเหมาจ่ายรายเดือน ซึ่งงานนี้ไม่ได้มองถึงผลกำไรแต่ต้องการให้ตลาดไปได้ ผู้บริโภคให้การยอมรับ จากนั้นถ้าโครงสร้างต่างๆ กลไกตลาดเดินไปได้ จึงจะหันกลับมาทบทวนอีกครั้ง” อรรถพล กล่าว

559000007925501

มั่นใจปี 60 มี 20 สถานี
ปัจจุบัน ปตท.มีสถานีชาร์จไฟฟ้า 4 แห่ง และมีเป้าหมายจะเพิ่มเป็น 6 แห่งภายในปีนี้ และเพิ่มเป็น 20 แห่งภายในปี 2560 ซึ่งรูปแบบของสถานีชาร์จไฟฟ้ามีค่าดำเนินการหัวจ่ายรวมติดตั้งราว 3-5 ล้านบาทต่อแห่ง แต่ละแห่งมี 2 หัวจ่าย ได้แก่ สถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบรวดเร็ว (Quick Charge) จะใช้เวลาชาร์จราว 30-40 นาที สามารถชาร์จได้ราว 80% ของความจุ และการอัดประจุไฟฟ้าแบบธรรมดา (Normal Charge) จะใช้เวลาชาร์จราว 8 ชั่วโมง สามารถชาร์จได้เต็ม 100% ของความจุ โดยในส่วนของสถานีชาร์จไฟฟ้าอีก 2 แห่งที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ก็จะมีทั้ง 2 รูปแบบเช่นกัน แต่สำหรับอีก 14 แห่งในปีหน้านั้นจะมีหัวจ่ายแบบใดนั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดเป็นหลัก ซึ่งในอนาคตปตท.ยังมีแผนที่จะพัฒนาเครื่องชาร์จเองในอนาคตด้วย
ขับเคลื่อนเมืองด้วยดิจิตอล
ด้านกระทรวงพลังงานนั้น มีแผนปฏิบัติการเพื่อสนับสนุนให้เกิดยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย (EV ปี 2559-2579) แบ่งเป็น 3 ระยะ ระยะแรก ปี 2559-2560 จะเป็นการเตรียมความพร้อมของการนำร่องในการทดลองใช้รถยนต์ EV และการพัฒนาสถานีชาร์จไฟรองรับ ประกอบด้วยองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่จะทำโครงการนำร่องเพื่อทดสอบการใช้งานรถโดยสารสาธารณะไฟฟ้า 20 คัน เพื่อนำไปสู่การจัดหารถโดยสารสาธารณะ 200 คัน การนำร่อง EV ทดลองใช้และสถานีประจุไฟภายในองค์กร ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และบมจ.ปตท.
พร้อมกันนี้ ยังมีแผนจะส่งเสริมกลุ่มเป้าหมายในการนำร่องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าและสนับสนุนสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้กับองค์กรรัฐและเอกชนอื่นๆ ได้แก่ โรงแรม ห้างสรรพสินค้า สำนักงานออฟฟิศ หมู่บ้านอาคารชุด บริการสาธารณะ บริการท่องเที่ยว ที่มีเส้นทางประจำในการบริการในการจัดซื้อรถ หรือลงทุนตั้งสถานีชาร์จไฟ ซึ่งสนับสนุนโดยกองทุนเพื่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบ คาดว่าสามารถสรุปผลได้เร็วๆนี้

สำหรับระยะที่ 2 ปี 2561-2563 จะเป็นช่วงงานวิจัยเข้มข้นที่จะส่งเสริมให้เอกชนร่วมวิจัยและพัฒนาสมรรถนะแบตเตอรี่ มาตรฐานรถและสถานี กฎหมาย ขั้นตอนการอนุญาต ภาษีฯ รวมถึงโครงสร้างค่าไฟฟ้าถาวรสำหรับการชาร์จรถไฟฟ้า ขณะเดียวกัน จะมีการดำเนินงานที่สอดรับกับโครงการเมืองอัจฉริยะหรือ Smart City ที่มีเป้าหมาย สร้างให้เป็นเมืองที่ขับเคลื่อนชุมชนด้วยดิจิตอลและระบบไฟฟ้าก็จะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะโดยกระทรวงพลังงานมีแผนจะพัฒนานโยบายใหม่ว่าด้วยนโยบาย SPP Hybrid + ยานยนต์ไฟฟ้า
โดยจะส่งเสริมให้ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนด้วยเทคโนโลยีและเชื้อเพลิงที่ผสมผสานกับเชื้อเพลิงฟอสซิลแต่ไมเกิน 10% เพื่อจำหน่ายไฟให้แก่กฟผ. จ่ายไฟในเขต Smart City และจำหน่ายไฟภาคขนส่งรถไฟฟ้า (EV) คาดว่าสามารถประกาศนโยบายใหม่ได้ในเร็วๆ นี้
วนระยะที่ 3 จะเริ่มในช่วงปี 2564 เพื่อไปสู่เป้าหมายสุดท้ายของแผนในปี 2579 กำหนดจะมีรถยนต์ไฟฟ้า (EV Passenger) จำนวน 1.2 ล้านคัน และมีสถานีชาร์จไฟ หรืออัดประจุไฟฟ้า (Charging Stations) จำนวน 690 สถานี พร้อมกับมีการพัฒนาระบบชาร์จไฟฟ้าอัจฉริยะ (EV Smart Charging) ที่จะสอดรับกับนโยบายเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ภาครัฐจะประกาศโครงสร้างค่าไฟฟ้าภาคขนส่งชั่วคราว และประกาศจดทะเบียนมาตรฐานสถานีชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าภายในสิงหาคมนี้ เพื่อรองรับตลาดรถยนต์ไฟฟ้า โดยผู้ให้บริการต้องมายื่นจดทะเบียนต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ส่วนค่าไฟฟ้าชั่วคราวใช้ช่วงเวลาของวัน หรือทีโอยู หากชาร์จกลางคืนจะอยู่ที่ 2.60 บาทต่อหน่วย กลางวันจะอยู่ที่ 6 บาทต่อหน่วย เพื่อจูงใจให้เกิดการชาร์จไฟฟ้าช่วงกลางคืน เพื่อลดการเกิดพีกในช่วงเวลากลางวัน โดยสูตรค่าไฟเบื้องต้นจะมีส่วนที่รัฐอุดหนุนไฟฟรีกรณีที่ใช้ไม่เกิน 50 หน่วย และมีต้นทุนสิ้นเปลืองพลังงานต่อกิโลเมตรของรถยนต์ไฟฟ้าต่ำกว่าก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV)

ev-trend
EV Charging Station จะประเดิมเปิดใช้กับโครงการคอนโดมิเนียม The XXXIX (เดอะ เทอร์ทีไนน์) เป็นโครงการแรกในปลายปีนี้

แสนสิริเปิดสถานีชาร์จไฟฟ้า หนุนลูกบ้านใช้รถไฟฟ้า
อุทัย อุทัยแสงสุข รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายงานพัฒนาธุรกิจและพัฒนาคอนโดมิเนียม บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบันการใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้รับความสนใจมากขึ้นทั่วโลกและมีแนวโน้มที่จะใช้อย่างแพร่หลายในอนาคต บริษัทจึงเปิดตัวสถานีชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle Charging Station) หรือ EV Charging Station ขึ้นเป็นครั้งแรกในวงการอสังหาริมทรัพย์ มุ่งหวังสนับสนุนให้ลูกบ้านใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อช่วยลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและประหยัดน้ำมัน
สำหรับการใช้งานนั้น ลูกบ้านสามารถเติมไฟฟ้าจากสถานีได้เอง ระบบการทำงานง่าย ไม่ซับซ้อน เพียงนำหัวจ่ายไฟต่อเข้ากับรถคล้ายกับการเติมน้ำมันก็สามารถเติมไฟฟ้าได้ทันที ในเบื้องต้นจะเตรียมไว้อย่างน้อย3ช่องจอดต่อโครงการ โดยนิติบุคคลจะเป็นผู้บริหารจัดการระยะเวลา/ความเหมาะสม ในการจอด
ทั้งนี้ การนำ EV Charging Station มาใช้ในโครงการคอนโดมิเนียม นับเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ใส่ใจในทุกรายละเอียด ไม่เพียงแต่ที่อยู่อาศัย แต่ยังหมายรวมถึงคุณภาพชีวิตของสังคมด้วย โดยจะประเดิมเปิดใช้กับโครงการคอนโดมิเนียม The XXXIX (เดอะ เทอร์ทีไนน์) เป็นโครงการแรกในปลายปีนี้ และตั้งเป้ารองรับลูกบ้านในทุกโครงการคอนโดมิเนียมของแสนสิริในอนาคต

ขอขอบคุณบทความจาก : http://www.manager.co.th/iBizChannel/ViewNews.aspx?NewsID=9590000082119

ความเห็นของคุณ

comments

ใส่ความเห็น