รถยนต์ไฟฟ้าเกิด ใครได้-เสียในไทย โดย…ทีมข่าวธุรกิจตลาด โพสต์ทูเดย์
การโยนหินถามทางของรัฐบาลในประเด็นรถยนต์ไฟฟ้า ที่เปิดเงื่อนไขข้อเสนอมาให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์พร้อมเรียกเข้าไปรับฟังความคิดเห็น ซึ่งต่างมีจุดยืนที่แตกต่างกันบ้างก็เห็นด้วยกับข้อเสนอบ้างก็เห็นต่างกับรัฐบาล
“โพสต์ทูเดย์” ได้รวบรวมความเป็นไปได้ “หากรถยนต์ไฟฟ้าเกิดขึ้นในประเทศไทยจริง” ใครจะเป็นผู้ได้ประโยชน์หรือผู้เสียประโยชน์อย่างไรบนเงื่อนไขในช่วงเวลาปัจจุบัน
จุดประสงค์หลักของรัฐบาลมีแนวความคิดในการก้าวก่อนประเทศใดในโลก ที่จะไปสู่ฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า จึงอยากสนับสนุนให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โดยเบื้องต้นได้มีข้อเสนอมาตรการทางด้านภาษี เพื่อให้เกิดการนำเข้ามาสร้างตลาดให้เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยมีเงื่อนไขที่ต้องตั้งฐานการผลิต
เวลานี้จึงเป็นเวลาที่เหล่าบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายต่างๆ ถูกรัฐบาลเชิญเข้าไปให้ความเห็น ซึ่งดูเหมือนว่าฟากฝั่งเอกชนจะมีหลายแนวทางความคิดเห็นที่แตกต่างกันไปตามแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีของบริษัทตัวเองในช่วงเวลานี้ โดยถึงแม้แนวทางการพัฒนาขั้นสุดท้ายปลายทางจะไปในทิศทางรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตที่สุดแล้วก็ตาม
เริ่มต้นที่โตโยต้าที่นโยบายระดับโลกมีแนวทางการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าเช่นเดียวกับรายอื่นๆ แต่ในเวลานี้สิ่งที่โตโยต้าหยิบยกขึ้นมาคือ ฟิวเซล ที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนมาเป็นเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อนรถยนต์ ซึ่งเชื่อว่าในแนวทางปฏิบัติของโตโยต้าได้มองการก้าวกระโดดของเทคโนโลยีในอนาคตที่มีความเป็นได้อื่นๆ นอกเหนือจากแค่รถยนต์ไฟฟ้าอย่างเดียวเท่านั้น
ขณะที่ฮอนด้าเองก็เช่นเดียวกันที่มีรถยนต์ไฟฟ้าเป็นโปรเจกต์ที่ทำการศึกษาและมีข่าวคราวออกมาให้ได้เห็น แต่สิ่งที่ฮอนด้าพยายามนำเสนอมาตลอดคือเรื่อง เอิร์ธดรีม เทคโนโลยี ที่ยังมุ่งเน้นการพัฒนาเครื่องยนต์สันดาปภายในให้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) ที่ต่ำเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด
เช่นเดียวกับมาสด้าที่ชูจุดเด่นของสกายแอ็กทีฟ เทคโนโลยี ที่พัฒนาเครื่องยนต์สันดาปภายในที่เพิ่มประสิทธิภาพของการขับขี่และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งนำมาใส่ในทุกรุ่นทุกเซ็กเมนต์ของผลิตภัณฑ์ที่บริษัทมี
ด้านอีกฟากฝั่งหนึ่งที่ดูมีความพร้อมและชัดเจนพร้อมเคลมตัวเองเป็นที่ 1 ของยอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกอย่าง นิสสันมีผลิตภัณฑ์รถยนต์ไฟฟ้าลงสู่ตลาดและมีการพัฒนาสู่เจเนอเรชั่นต่อไป ซึ่งมียอดขายสะสมมาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับอีกค่ายที่มีความชัดเจนเช่นเดียวกันคือ มิตซูบิชิที่มีรถโปรดักชั่นคาร์ของรถยนต์ไฟฟ้าออกมาวิ่งในตลาดอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน
ส่วนรายอื่นๆ ที่ยังไม่มีความชัดเจนของรถยนต์ไฟฟ้าทั้งในระดับโลกและประเทศไทย เช่น ซูซูกิ ค่ายรถยนต์จากจีน ยุโรป และสหรัฐ ก็เชื่อว่าคงไม่พลาดการซุ่มพัฒนาตามแนวโน้มโลกในอนาคตอย่างแน่นอน
หลักใหญ่ใจความสำคัญที่หลายฝ่ายเป็นห่วงคือเทคโนโลยีดังกล่าว ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งให้เกิดขึ้นในประเทศไทยในเร็ววัน แม้แนวโน้มของโลกจะไปในทิศทางรถยนต์ไฟฟ้าก็ตาม โดยในทางปฏิบัติแล้วเทคโนโลยีที่ยังไม่ใช่ในปัจจุบันอาจต้องใช้การลงทุนที่สูงอย่างมหาศาลในการผลิตมากกว่า เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีที่ได้รับความนิยม หลายค่ายจึงอยากลงทุนในเวลาที่เหมาะสม
ปัจจัยดังกล่าวจึงอาจทำให้เทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเวลานี้ อาจเกิดขึ้นได้ยาก โดยจากมุมมองผู้ผลิตรถยนต์ให้ความเห็นว่า ถ้ารถยนต์ไฟฟ้าจะเกิดขึ้นได้ ต้องมีความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานทั้ง สถานีชาร์จไฟฟ้า นโยบายการสนับสนุน รวมถึงอื่นๆ อีกมากมายที่ไม่ใช่แค่ยอดขาย
สิ่งหนึ่งที่ผู้ผลิตรถยนต์เสนอคือ การให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า ในช่วงแรกจากนั้นถึงพิจารณาต่อยอดเป็นฐานการผลิตตามลำดับ เพื่อสร้างซัพพลายเชนให้เกิดขึ้น ด้วยเหตุผลด้านความคุ้มค่าการลงทุนในไทยที่อาจยังไม่คุ้มค่าในปัจจุบัน จากตลาดที่ยังไม่แพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ และที่สำคัญสิ่งที่รัฐบาลได้เชิญชวนก่อนหน้าให้มีการลงทุนในโครงการอีโคคาร์ 2 ซึ่งจะต้องให้ความสำคัญและไม่กระทบต่อโครงการอื่นๆ หากจะเดินหน้าโครงการรถยนต์ไฟฟ้า
ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าการเป็นฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจะเกิดประโยชน์กับไทยในระยะยาว แต่ด้วยจังหวะไม่เหมาะ กลุ่มทุนมองไม่คุ้มค่าในหลายปัจจัย หากรัฐบาลยังมุ่งรถยนต์ไฟฟ้า งานนี้คงถึงจุดเปลี่ยนที่ไม่ชัดเจนของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่ไม่ออกไปทางวิน…วิน เสียแล้ว
ขอขอบคุณบทความจาก : http://www.posttoday.com/auto/news/447319