ค้านแผนรัฐหนุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ทุบอุตฯชิ้นส่วน 6 แสนแรงงานเคว้ง

ค่ายชิ้นส่วนยานยนต์ค้านแหลกรถยนต์ไฟฟ้าทุบระบบซัพพลายเชนล่ม หวั่นแรงงาน 6 แสนคนกระทบ ระบุใช้ชิ้นส่วนน้อยกว่าเครื่องยนต์หลายพันเท่า ยื่นหนังสือ สศอ.ขอทบทวน ย้ำควรมีโรดแมปชัดเจน ด้านพลังงานเตือนไฟฟ้าขาด ปตท.รับลูกเร่งขยายสถานีชาร์จ
ผลกระทบจากการที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบสนับสนุนการผลิตยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย โดยอยากเห็นโครงการดังกล่าวเป็นรูปธรรมชัดเจนภายในปี 2560 และให้กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ เพื่อให้สามารถนำรถยนต์ ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้ามาใช้งานจริงภายใน เดือนพฤศจิกายน 2559 โดยช่วงเวลาที่ผ่านมามีบริษัทยักษ์ใหญ่จากหลายประเทศเข้า หารือและพร้อมดำเนินการอย่างจริงจัง เกี่ยวกับเรื่องนี้ปรากฏว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง โดยเฉพาะผลกระทบที่จะตามมาจากการเปลี่ยนผ่านจากเครื่องยนต์สันดาปภายในมาเป็นมอเตอร์ไฟฟ้า

ชิ้นส่วนหวั่นซัพพลายเชนล่ม

นางอัชณา ลิมป์ไพฑูรย์ นายกสมาคมผู้ผลิต ชิ้นส่วนยานยนต์ไทย เปิดเผยว่า สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนได้ถึงทำหนังสือถึงสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง เพื่อให้ทบทวนเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยพยายามสะท้อนถึงผลกระทบที่ตามมา ซึ่งจริง ๆ ทางสมาคมเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงซึ่งถือเป็นเทรนด์ใหม่ที่ต้องเกิด แต่อยากให้รัฐบาลมีแผนงานหรือโรดแมปที่ชัดเจน
สำหรับผลกระทบที่กลุ่มนำเสนอคือ ระบบซัพพลายเชนและการจ้างงาน จากเดิมที่รถยนต์ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในการขับเคลื่อนซึ่งมีชิ้นส่วนที่นำมาผลิต ตัวอย่างแค่ระบบการขับเคลื่อนซึ่งมีมากกว่า 2,000 ชิ้น ในจำนวนนี้มีผู้ประกอบการ ที่เกี่ยวข้องมากกว่า 2,500 ราย และมีการจ้างงานในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนมากกว่า 600,000 คน ตรงนี้จะได้รับผลกระทบแน่นอน เพราะเมื่อเปลี่ยนมาใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อนจะใช้ชิ้นส่วนเพียงไม่กี่ชิ้น เท่านั้น อาทิ ระบบทำความเย็น (Inverter) ระบบมอเตอร์ขับเคลื่อน (Motor) ระบบชาร์จไฟ (Charger) และแบตเตอรี่ (Lithium-ion Batteries) เท่านั้น และอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อมูลค่าการส่งออกและนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ เนื่องจากประเทศไทยอาจจะต้องนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อนำมาผลิตรถไฟฟ้า ทดแทนการผลิตเพื่อ ใช้งานในประเทศและส่งออกด้วย
ปัจจุบันประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออก ชิ้นส่วนยานยนต์กว่า 570,000 ล้านบาท ขณะที่มีมูลค่าการนำเข้าชิ้นส่วนอยู่ ที่ 480,000 ล้านบาท และยังคงมีแนวโน้มการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากรัฐบาลสนับสนุนให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างไม่เป็นระบบหรือมีแผนงาน ที่ไม่ชัดเจนย่อมส่งผลกระทบแน่นอน ดังนั้น รัฐบาลควรพิจารณาแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือเป็นไปตามกลไกของเทคโนโลยี อุปสงค์อุปทานของการตลาดที่แท้จริง
นอกจากนี้ในแง่ของการส่งเสริมการลงทุน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบาลส่งเสริมการลงทุนสำหรับการผลิตรถปิกอัพและอีโคคาร์ ซึ่งถือเป็นตลาดหลัก โดยเฉพาะอีโคคาร์ยังเดินมาไม่ถึงครึ่งทาง หากรัฐบาลสนับสนุนรถไฟฟ้าให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและไม่มีโรดแมปให้ผู้ประกอบการได้เตรียมตัว เชื่อว่าน่าจะกระทบต่อความเชื่อมั่นและความมั่นใจต่อการลงทุนของประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นอกจากนี้ระบบอำนวยความสะดวก สถานีชาร์จไฟ ระบบมาตรฐานการรองรับยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยก็ยังไม่มีความชัดเจนตามมาตรฐานสากลเช่นในอเมริกาหรือในญี่ปุ่น รวมทั้งควรต้องคำนึงถึงนโยบายด้านพลังงานของประเทศ โดยเฉพาะไฟฟ้าเพียงพอหรือไม่ และก่อนหน้านี้รัฐบาลก็รณรงค์ให้เกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจที่นำมาแปรรูปเป็นพลังงานทดแทน
“เรายังเตรียมจะยื่นหนังสือขอความเห็นใจจากนายกรัฐมนตรีในเร็ว ๆ นี้อีกด้วย”
ญี่ปุ่นยันยังไม่ใช่โปรดักต์หลัก
ก่อนหน้านี้สมาคมผู้ผลิตยานยนต์แห่งประเทศญี่ปุ่น สำนักงานสิงคโปร์ เคยกล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ประเทศญี่ปุ่นแม้จะมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์มาเป็นเวลานานกว่า 20 ปี จนกระทั่งถึงปัจจุบันในประเทศญี่ปุ่นก็ยังไม่จัดหมวดหมู่ประเภทของรถยนต์ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์หลักที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาด แต่ได้ร่วมให้อยู่ในหมวด รถยนต์เน็กซ์-เจเนอเรชั่น ซึ่งประกอบไปด้วยรถยนต์ไฮบริด, รถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด, รถยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์คลีนดีเซล ที่มีจุดประสงค์สำหรับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เป็นแนวคิดในการจัดหมวดหมู่
ส่วนการสนับสนุนด้านโครงสร้าง พื้นฐานที่รองรับการใช้รถยนต์ไฟฟ้า อาทิ สถานีชาร์จไฟฟ้า, แบตเตอรี่ ในประเทศญี่ปุ่นมีการสนับสนุนจากรัฐบาลและการสนับสนุนแก่ผู้บริโภครวมถึงการสนับสนุนให้กับภาคเอกชนเพื่อให้เกิดการใช้งานอย่างแพร่หลาย ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญ
จากข้อมูลการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่นย้อนหลัง 5 ปี (2554-2558) พบว่ามีการขายเฉลี่ยอยู่ที่ 12,000 คันต่อปี จากปริมาณการขายรถยนต์รวมต่อปี ในประเทศญี่ปุ่นเฉลี่ยอยู่ที่ 4.8 ล้านคันต่อปีเท่านั้น ซึ่งเชื่อว่าการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพื่อให้เกิดความนิยมเพิ่มมากขึ้นนั้นยังต้องใช้เวลา โดยขณะนี้กลุ่มประเทศชั้นนำที่นิยมใช้รถไฟฟ้าอย่างยุโรป สแกนดิเนเวีย อเมริกา ญี่ปุ่น จีน นั้นมีปริมาณการใช้รถยนต์ไฟฟ้ารวมกันแค่ 1.2 ล้านคัน ในปีที่ผ่านมาเท่านั้น
หวั่นกระทบโรงกลั่นน้ำมัน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในการเสวนาประเด็นพลังงานและอนาคตของประเทศ ที่จัดโดยสถาบันวิทยาการพลังงานเมื่อ เร็ว ๆ นี้ นายมนูญ ศิริวรรณ รองประธานกรรมาธิการ คณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ กล่าวถึงประเด็นที่ภาครัฐผลักดันให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าว่า หากมีการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าทันทีมากกว่า 500,000 คัน อาจทำให้ประเทศเกิดปัญหา โดยเฉพาะกำลังผลิตไฟฟ้าจะสามารถรองรับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นได้หรือไม่
เนื่องจากขณะนี้เมื่อพิจารณาตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (2558-2579) หรือ PDP (Power Development Plan) ยังไม่มีความชัดเจนว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะสามารถพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพา รวมถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ได้ตามแผนที่วางไว้หรือไม่ ซึ่งหากพัฒนาไม่ได้นั่นเท่ากับว่าอาจจะต้องมีการนำเข้าพลังงานไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ฉะนั้นความมั่นคงทางไฟฟ้าของประเทศจะเป็นอย่างไร
ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในอนาคตนี้รถยนต์ไฟฟ้าจะเข้ามามีบทบาทแน่นอน ต้องมาพร้อมกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ต้องเพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากต้นทุนการผลิตไฟฟ้า เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ลดลงอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาแบตเตอรี่เพื่อใช้กักเก็บพลังงานก็มีศักยภาพดีขึ้น ฉะนั้นพลังงานทั้ง 2 ประเภทนี้น่าจะเดินหน้าไปพร้อม ๆ กัน ไม่ต้องการให้มองในแง่ร้ายเกินไปนอกจากนี้ ปตท.เองได้มีการพัฒนาสถานีบริการชาร์จไฟฟ้าแล้ว 6 แห่ง และภายในสถานีบริการ ปตท.ก็ติดแผงโซลาร์เซลล์แล้ว เพื่อมาทดแทนการใช้ไฟฟ้าจากระบบ อย่างไรก็ตาม มองว่าการใช้รถไฟฟ้ายังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้เร็ว
ขณะที่นายเจน นำชัยสิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมเริ่มมีความกังวล เนื่องจากมีมาตรการหลายอย่างที่ส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้ามากกว่าเครื่องยนต์ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วน ก่อนหน้านี้ภาครัฐส่งเสริมรถยนต์อีโคคาร์เพื่อให้เป็นโปรดักต์แชมเปี้ยนแทนรถกระบะ แต่ล่าสุดกลับมาส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าแทน ในกรณีที่เปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมชิ้นส่วนที่จะได้รับผลกระทบเต็ม ๆ คือ “หม้อน้ำ” รวมถึงท่อไอเสีย นอกจากนี้ยังมีความกังวลถึงจุดเปลี่ยนแปลงด้านราคา และความนิยมมันจะมาเร็วมากจนอาจจะตั้งรับไม่ทัน
นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมอื่นที่จะต้องได้รับผลกระทบในช่วง 15 ปีต่อจากนี้ คือโรงกลั่นน้ำมัน หากว่าราคาน้ำมันยังแพงกว่าเมื่อเทียบกับพลังงานอื่น ๆ จุดนี้จะเป็นปัญหา แต่ยานยนต์ที่ยังใช้อยู่บ้าง เช่น รถขนส่ง เหล่านี้ยังไม่น่าเปลี่ยนมาใช้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพราะต้องวิ่งระยะไกล เบื้องต้นอาจจะกระทบต่อน้ำมันเบนซินที่โรงกลั่นในประเทศเดินเครื่องผลิตอยู่ 20 ล้านลิตร/วัน
ปตท.รับลูกขยายสถานีชาร์จไฟ
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ รองกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ปตท.ได้เริ่มขยายสถานีชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่สถานีวิจัยและพัฒนาของ ปตท.ที่อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่แหลมฉบัง และล่าสุดที่คริสตัล พาร์ค ถนนราชพฤกษ์ คาดว่าในสิ้นปีนี้จะขยายได้รวม 10 แห่ง และคาดว่าในปี 2560 จะขยายเพิ่มเป็น 20 แห่ง ซึ่งสถานีชาร์จแต่ละตัวจะมีการเจรจากับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ว่าต้องการให้ขยายหรือไม่ และแต่ละรายก็มีข้อตกลงที่แตกต่างกันออกไป ในช่วงเริ่มต้นค่ายรถยนต์จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้กับลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการชาร์จไฟฟ้าในสถานีบริการของ ปตท.
“ปตท.หารือกับหลายค่ายรถยนต์ ซึ่งแต่ละรายจะมีข้อตกลงที่แตกต่างกัน ในส่วนของ ปตท.การพัฒนาสถานีชาร์จไฟฟ้านี้ ส่วนหนึ่งเพื่อต้องการสนองนโยบายรัฐบาลและยังมองว่าน่าจะเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ในอนาคตของ ปตท.ด้วย”
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีรถไฟฟ้ารวมทั้งหมดในประเทศเพียง 50 คันเท่านั้น
ในขณะที่นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มีการหารือร่วมกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศที่สนใจผลิต-นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า พร้อมรับฟังความเห็นก่อนที่จะนำไปกำหนดรายละเอียดสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ที่สนใจ ทั้งนี้ บีโอไอได้ยืนยันว่า สิทธิประโยชน์จะออกเป็นแพ็กเกจ เดียว ไม่มีการแยกส่งเสริมเฉพาะราย อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ได้มีบริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฮบริด (HYBRID) จากประเทศเยอรมนี ที่ BOI ได้อนุมัติ ส่งเสริมการลงทุนไปแล้ว

ขอขอบคุณบทความจาก : http://www.industrialnew.com/%E0%B8%84%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%96%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B9%8C%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%9F%E0%B9%89%E0%B8%B2-%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%95%E0%B8%AF%E0%B8%8A%E0%B8%B4%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%996%E0%B9%81%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B9%89%E0%B8%87/

ความเห็นของคุณ

comments

ใส่ความเห็น